วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ชื่นชมผลผลิต



















หลังจากที่ทางโรงเรียนบ้านทองหลาง โดยเฉพาะชั้น ป.4-6 โดย ครูอนนท์ หาญโกรธา ครูประจำชั้น ได้ปฏิบัติงานเกษตรกรรม ในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี โดยได้มีการปลูกข้าวและข้าวโพดในบริเวณโรงเรียน ซึ่งผลจากการปฏิบัติงานอย่างเป็นขั้นตอน ถูกหลักวิชาการ ทำให้ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการปฏิบัติกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มีการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ และจัดทำโครงงานควบคู่กันไป กับงานภาคปฏิบัติอีกด้วย

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

โรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ. หัวอกที่ถูกมองข้ามความสำคัญ

โรงเรียนขนาดเล็ก คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จำนวน 32,731 โรงเรียน ชื่อก็บอกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก อะไรๆ ก็จะเล็กตาม โดยเฉพาะจำนวนนักเรียน จำนวนครู ถ้าเป็นครู เฉลี่ยก็ประมาณ 3-5 คน ต่อหนี่งโรงเรียน แต่โรงเรียนขนาดเล็กก็ต้องเปิดสอนตั้งแต่ อนุบาล 1-2 ป.1-ป.6 ( 8 ห้องเรียน) หากสอนคนละชั้นพอดี ก็จะต้องมีครู 8 คน และในความเป็นจริง หาโรงเรียนขนาดเล็กมีครูถึง 8 คน ก็นับว่าเก่ง แต่ส่วนใหญ่จะมี 3-4-5 คนครับ ลองนึกภาพดูว่าโรงเรียนที่มีครู 3 คน แต่ต้องสอนนักเรียนถึง 8 ชั้น จะเป็นอย่างไร แน่นอนบางคนต้องสอนถึง 3 ชั้น สอนทุกวิชา !
และมีสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนขนาดเล็กได้รับเหมือนๆ กันก็คือ งบประมาณรายหัว ที่คิดจากจำนวนนักเรียน ซึ่งเป็นสูตรการให้งบสนับสนุนการศึกษาของรัฐมาทุกยุคทุกสมัย ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ ดังนั้นยิ่งโรงเรียนไหน มีนักเรียนน้อยๆ งบประมาณแค่นำมาซื้อกระดาษ A4 มาพิมพ์ข้อสอบ แทบจะไม่พอ!
แต่โรงเรียนขนาดเล็กหลายโรงเรียนก็ไม่ได้อยู่นิ่งนอนใจ ได้ดิ้นรนระดมทุน ระดมปัจจัยมาพัฒนาโรงเรียนของตนเองอยู่เสมอ โรงเรียนบ้านทองหลางเป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีนักเรียนไม่ถึง 70 คนมาหลายปีแล้ว เรามีครู 5 คน รวมทั้งผู้บริหาร ครูได้รับงานสอนคนละ 2 ชั้น ล่าสุดครูอีก 2 ท่านอาจจะได้ย้าย ภายในเดือนตุลาคม ที่จะถึงนี้ ! มันคือวัฏจักรอีกวัฏจักรหนึ่งของโรงเรียนขนาดเล็ก "ไม่ค่อยจะมีครูอยู่อย่างยั่งยืนถาวร" เหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่คนที่อยู่ก็จะสู้ต่อไป เพราะเด็กๆ ยังอยู่ เขาไม่ได้ย้ายไปไหน สักวันหนึ่งครูใหม่คงเข้ามาแทน
น้องๆ นักศึกษาอาจจะเห็นสภาพโรงเรียนบ้านทองหลางในบล็อกแห่งนี้ว่าสภาพดูดี ไม่แห้งแล้งกันดารเท่าไร ซึ่งก็จริง ...แต่ ก็เนื่องจากว่า ทั้งครู นักเรียน ชุมชน ผู้ปกครองนักเรียน ได้ช่วยกันประคับประคอง ดูแลโรงเรียนเป็นอย่างดี เราได้จัดหาเงิน เช่น จัดงานผ้าป่ามาพัฒนาโรงเรียนทุกปี บางปีจัดถึงสองครั้งสามครั้ง และทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้รับบริจาค เราจะดูแล รักษาและใช้เป็นประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นห้องคอมพิวเตอร์ อาคารเรียน สวนหย่อม ล้วนได้จากการบริจาค และการระดมหาทุนด้วยเราเองเป็นส่วนใหญ่
เพราะเราไม่ได้อยู่เฉยๆ หรือร้องของบประมาณจากรัฐอย่างเดียว บางทีเราก็เข้าใจว่าประเทศชาติเรายากจน หากจะมัวรอ ก็คงจะร้อเก้อแน่ๆ ดังนั้นด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร คณะครู น้ำใจจากชาวบ้าน ทำให้โรงเรียนได้รับสนับสนุนด้านปัจจัยจากหลายๆ ทาง แต่ถึงกระนั้นหลายส่วนเราก็ยังขาดแคลน
ถ้าหากมองโรงเรียนที่อยู่ตามป่าตามเขา หลายแห่ง โรงเรียนเหล่านั้นยังมีมูลนิธิ องค์กรต่างๆ ไปดูแลอยู่มิได้ขาด บางครั้งเมื่อได้ดูข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับการทุ่มงบประมาณของรัฐ ไปยังโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล เช่น โครงการจัดสรรคอมพิวเตอร์ หรือโครงการอินเทอรเน็ต Ipstar ส่งไปยังหลายๆ โรงเรียนดังกล่าว ปรากฏว่าโรงเรียนแห่งนั้น ไฟฟ้าไปไม่ถึง บางส่วนก็ไม่มีครูที่มีความชำนาญพอที่จะดูแล โครงการหลายโครงการล้มเหลวเนื่องจากขาดคนดูแล... ซึ่งจากนโยบายหว่าน! แบบนี้ ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ
ทางโรงเรียนบ้านทองหลางยินดีเป็นอย่างยิ่งที่น้องๆ จะได้มามีส่วนร่วมเติมเต็มในส่วนที่เรายังขาด ซึ่งทางเราขอรับรองว่า สิ่งที่ท่านกำลังจะทำ และเมื่อทำเสร็จไปแล้ว ทางโรงเรียนมีบุคลากร และจะดูแลใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่ออนาคตของชาติไทยเราครับ...

ขนาดอาคาร _final















สภาพห้องสมุด ณ เวลาปัจจุบัน

ห้องสมุดโรงเรียนบ้านทองหลางในปัจจุบัน อยู่บนชั้นสองของอาคารเรียน โดยใช้ห้องเรียนที่ไม่ได้ใช้แบ่งมุมเป็นห้องสมุด มีหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรม ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนจะพยายามซ่อมแซม แต่หลายๆ เล่มก็ไม่สามารถทำให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ และส่วนใหญ่จะเป็นที่เก็บหนังสือเรียนเก่ามากกว่า ทำให้นักเรียนไม่ค่อยมาใช้ห้องสมุด เนื่องจากมีหนังสือไม่หลากหลาย






วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

มาดำนากันเถอะ



เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านทองหลาง ได้เริ่มลงมือปักดำข้าว ภายในพื้นที่ว่างของโรงเรียน โดยนักเรียนชั้น ป. 3-ป.6 ได้ช่วยกันดำนาอย่างสนุกสนาน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะมีพ่อแม่เป็นชาวนา แต่นักเรียนหลายคนก็ไม่เคยดำมาก่อน โครงการนี้เป็นการกระตุ้นปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนเห็นคุณค่าของเมล็ดข้าวที่กินกันอยู่ทุกวัน และให้เห็นความสำคัญของการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนทั้งประเทศ นักเรียนทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ปลูกข้าวด้วยตนเอง และกำลังเฝ้ารอให้ต้นข้าวเจริญเติบโตต่อไป

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สองสี(ศรี) พี่น้อง...มุมนี้ขอส่วนตัวนิดนึง

พ.ศ. 2543 ครูนนท์ ครูจิ๊บ(อ.อัญชลี อภัยปรปักษ์) ร่วมงานกันครั้งแรก ที่โรงเรียนภาษาไทย วัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา รอดตายจากตึก WTC ถล่มมาอย่างหวุดหวิด ครูจิ๊บกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยตามเดิม ส่วนครูอนนท์ก็กลับมาสอนเด็กชายแหล่ เด็กหญิงจ่อย
แถวโคราชเหมียนเดิม...
















ที่ดิสนี่เวิลด์ ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

7 ปีต่อมา... พ.ศ. 2550-2551 ได้มีโอกาสร่วมงานกันครั้งที่สอง ที่โรงเรียนภาษาไทยวัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

...หลังจากร่วมกันปฏิบัติงาน และสร้างผลงานอันเกรียงไกร หุหุ (เห็นในเน็ตเขาหัวเราะกันแบบนี้อะคับ..เอามั่ง หุหุ อิอิ) ครูจิ๊บ ก็กลับมาสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยตามเดิม...ส่วนครูอนนท์ ก็กลับมาหาเด็กชายจ่อย เด็กหญิงแหล่ (กลับกัน) เหมียนเดิม ... สองสี(ศรี)พี่น้อง คนนึงสีแหล่(ภาษาอีสานแหล่แปลว่า ดำ ขำ คมเข้ม) อีกคนสีขาว (ไม่ต้องบอกนะว่าใคร) ได้ร่วมกันปฏิบัติงานในฐานะครู จากเมืองไทย สอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ให้แก่ลูกหลานไทยในต่างประเทศอย่างเต็มความสามารถ... ถึงแม้ว่าปัจจุบันเราจะสอนใคร ระดับใหน โรงเรียนเล็กหรือโรงเรียนใหญ่ แต่สิ่งที่เรามีเหมือนกันก็คือ "วิญญาณของความเป็นครู"... ตลอดไป ...หุหุ อิอิ

ภาพเพิ่มเติม_2

แจ้งข่าวผู้ประสานงาน และน้องๆ นะครับ ทางคณะครูได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้ปรับปรุง ต่อเติมอาคารที่มุงหลังคาไว้แล้ว ทำเป็นห้องสมุดแยกออกมาเป็นเอกเทศเลย น้องๆ จะได้ปฏิบัติกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ และคงเหมาะสมแก่ระยะเวลา เพราะอย่างน้อย พื้น หลังคา เสา คานต่างๆก็เสร็จเรียบร้อย เหลือคงจะเป็นการก่อบล๊อก ทำประตูหน้าต่าง เพิ่มเติม หรือทำมุขยื่นออกมาด้านหน้า ก็จะดูสวยงามขึ้นครับ ส่วนบริเวณที่พี่เสนอไปต่างๆ นั้นหากวัสดุอุปกรณ์เหลือ หรือมีเวลาค่อยว่ากันนะครับ... ไม่ทราบว่าน้องๆ จะว่าอย่างไร สำหรับทางโรงเรียนก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะได้ร่วมมือกัน
ปล. โรงเรียนแห่งนี้คงมีอะไรผูกพันกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมาก่อนหรือเปล่า เพราะอาคารหลังแรก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็สร้างโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา (วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา นครราชสีมา)